วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ประวัติ ฤาษีนัฎสิทธิ์ แบบสรุปให้ ดร.สิริวรรณ จุฬาลงกรณ์




ประวัติพ่อพราหมณ์




           ชื่อจริง  นายถนัด (นัด)  เชื้อวงศ์พรหม  อายุ  ๖๓  ปี  เป็นชาวผู้ไท อำเภอนาแกโดยกำเนิด   คุณพ่อชื่อ นายกานี  เชื้อวงศ์พรหม  เป็นผู้มีความรู้เรื่องสมุนไพรใบยา  คาถาอาคม  พิธีกรรมท้องถิ่น การฝึกหัดม้า  ขี่ม้า  และการนวดแพทย์แผนไทยสืบวิชามาจากบรรพบุรุษ  จึงได้ถ่ายทอดวิชาที่เป็น  ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับลูกชายนายนัด  ประกอบกับนายนัดเป็นผู้ที่มีสติปัญญาไหวพริบปฏิภาณดีมาก จึงได้ไปเรียนวิชาเหล่านี้เพิ่มเติมกับน้าบ่าว ชื่อ นายแน่น  และคุณป้าสด  นายนัดจึงกลายเป็น     หมอนวดจับเส้นแผนโบราณและเป็นอาจารย์สอนนวดคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ในเขตอำเภอนาแก  นอกจากนี้ สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอนาแก ได้ติดต่อให้เป็นวิทยากร ๑๐๐ ชั่วโมงมาแล้ว  นายนัดจึงมีลูกศิษย์และผู้คนนับหน้าถือตามากมาย
          ส่วนพี่ชาย นายน้อม  เชื้อวงศ์พรหม  ได้ก่อตั้งค่ายมวย “ศรีพยัคฆ์”  ซึ่งเป็นค่ายมวยแห่งแรกของอำเภอนาแก  มีคุณครูสมัย  ศิริจันทร์  เป็นครูสอนวิชาชกมวยไทยให้คนแรก   ทำให้นายนัดได้ฝึกหัดชกมวย และขึ้นเวทีชกหลายสิบครั้งในชื่อว่า  กู้น้อย  ศรีพยัคฆ์  ส่วนมากชนะคู่ต่อสู้แบบน็อคเอ้าท์ แพ้เป็นส่วนน้อย อาวุธที่ร้ายกาจมาก คือศอกและตีเข่าโค้งจากด้านหลัง  ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำได้เลยตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน  และทุกวันนี้ นายนัดยังเป็นครูมวยที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวและคนสุดท้าย ในเขตอำเภอนาแก
             ต่อมานายนัดเกิดเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาส  จึงได้บวชเรียนที่วัดธาตุศรีคูณ  อำเภอนาแก ๔   พรรษา  หลังสึกออกมาจึงได้รับเกียรติเรียกคำนำหน้าชื่อว่า ทิด ชาวบ้านในเขตอำเภอนาแกที่คุ้นเคยจึงเรียกว่าลุงทิดนัด 
               ช่วงเวลาที่บวชเรียนนี้เอง   ลุงทิดนัดได้ศึกษาการปฏิบัติธรรมพระกรรมฐาน ไหว้พระสวดมนต์  ศึกษาวิชามนตราคาถาอาคมเพิ่มเติมจากพระสงฆ์หลายรูป  และเรียนสืบตำรามูลมังอีสาน  จึงทำให้มีความสามารถในเรื่องพิธีกรรมท้องถิ่นเป็นอย่างดี  งานแต่งงาน  บวชนาค  เสดาะเคราะห์  แต่งแก้บูชา  ยกเสาเอก   ลุงทิดนัดจึงได้รับเชิญไปประกอบพิธีอยู่เสมอ ๆ  นอกจากนั้นสมุนไพรยารากไม้ทั้งแบบ  ดองเหล้าและแบบต้มน้ำร้อนของลุงทิดนัดยังมีสรรพคุณหลายขนาน  โดยเฉพาะยาแก้โรคเบาหวาน  การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ  ยาอายุวัฒนะ และอื่น ๆ  ซึ่งพี่ชายของฤาษีเอก  อมตะ  คืออาจารย์      ชูเกียรติ ตงศิริ  เป็นพยานยืนยันได้  เพราะทุกวันนี้ทานยาดองเหล้าสูตรแก้โรคเบาหวานของลุงทิดนัดเพื่อควบคุมเบาหวานอยู่ประจำ
                 ความเป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรี  จิตใจโอบอ้อมอารี  จึงมักจะถูกเชื้อเชิญและได้รับการสนับสนุนจากฤาษีเอก  อมตะ  ให้เป็นเพื่อนร่วมทางเสมอ ๆ  ทั้งการเดินป่า(เดินจงกรม)เข้าหาสมุนไพรใบยา  การหาสถานที่ฝึกกรรมฐานในเทือกเขาภูพาน   การสร้างวัดและสำนักสงฆ์หลายแห่ง  เมื่อปีที่แล้ว             ได้สนับสนุนให้ลุงทิดนัดเป็นประธานผ้าป่าสามัคคีสมทบทุนสร้างอาคารต้มยาสมุนไพรอโรคยศาล      ได้ปัจจัยสองหมื่นกว่าบาท  นับเป็นประธานผ้าป่าครั้งแรกในชีวิต และจากนั้นเมื่อยามว่างไม่ติดภารกิจใด ๆ ลุงทิดนัดจะมาเป็นจิตอาสาที่วัดคำประมงในด้านพิธีกรรมและจิตวิญญาณร่วมกับฤาษีเอก  อมตะ  เสมอมา
                เพื่อต้องการให้ไปในทิศทางเดียวกัน และเคยเรียนวิชาคล้ายคลึงกัน  ลุงทิดนัดจึงได้รับชื่อฉายาจาก ฤาษีเอก  อมตะ  นามว่า  ฤาษีนัฐสิทธิ์ฤทธิ์มนต์

ฤาษีเอก  อมตะ
เขียนบันทึก

วันจันทร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

บทที่ ๑ สีสันประวัติศาสตร์ของไทนาแก


       ลุงทิดนัด หรือ ชื่อจริง ถนัด เชื้อวงศ์พรหม เป็นชาวผู้ไทนาแก เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พศ.๒๔๙๐ เป็นบุตรของคุณตากานี - ยายดอน เชื้อวงศ์พรหม 
          บ้านเกิดอยู่บริเวณซอยด้านหลังบ้านอาแป๊ะมิง  เข้าไปทางบ้านลุงทิดอ่าง

      มีพี่น้องท้องเดียวกัน ๗ คน มีชื่อเล่น ดังนี้..นก  น้อม  นบ  นำ  นัด  รัตน์  สุพัฒน์ 

         ว่ากันว่า  ทิดนัด กับ น้องสาว ชื่อ รัตน์  นั้นเกิดมาเป็นแฝดคนละฝา ท้องเดียวกัน  ลุงทิดนัดเป็นพี่  ป้ารัตน์ เป็นน้องสาว  ห่างกันไม่กี่นาที  ทำเนียมท้องถิ่นผู้ไทนาแก ว่า ถ้าเกิดมาฝาแฝดอย่างนี้  จะต้องให้แต่งงานกัน เป็นการแต่งหลอกๆ  นัยว่า จะได้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เจ็บป่วย  ก่อนปีสุดท้ายของชีวิต ยังทันเห็นลุงทิดนัดไปเข้าพิธีแต่งงานกับน้องสาวอยู่

ลุงทิดนัดเรียนหนังสือจบชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนผดุงราชกิจเจริญ  ครูใหญ่ชื่อ ครูจันทร์  ฟองสมุทธ

หลังจากเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้วลุงทิดนัดไม่ได้เรียนหนังสือต่อ  ได้ประกอบอาชีพทำนาตามพ่อแม่พาทำ  

            คนโบราณไทนาแกกล่าวว่า ถ้าเรียนหนังสือความรู้น้อย สิ่งที่จะหางานทำเลี้ยงชีพ คือ การค้ากำปั้นความที่ลุงทิดนัดเรียนหนังสือน้อยเข้าตำรา  สิ่งที่จะเลี้ยงชีพได้ คือการค้ากำปั้นจริงๆ  หรือเพราะว่าดวงนักสู้จะฉายแววกำหนดชะตามาอย่างนี้  ทำให้ไทนาแก มีเรื่องต้องกล่าวขานเรื่องหนึ่ง คือ การตั้งค่ายมวย..
            ค่ายมวยแห่งแรกของไทนาแก หรืออำเภอนาแก ชื่อว่า ค่ายศรีพยัคฆ์  ผู้ก่อตั้งค่ายมวยนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้ที่ไทนาแกที่อายุมากกว่า ๕๐ ปี อาจจะจำท่านได้  คุณครูสมัย ศิริจันทร์ กับ ลุงนม  น้าบ่าวของลุงทิดนัดเอง  ทั้งสองท่านได้เห็นหน่วยก้านทางกีฬาบนผืนผ้าใบของพี่ชายทิดนัด คือ ลุงน้อม  จึงให้ น้อมกับนัด  สองพี่น้องมาหัดฝึกซ้อมชกมวยด้วยกัน  และมีนักมวยในสังกัดมากมายหลายคน เท่าที่ทราบมี ลุงขี้เกี้ยน  หรือ พุฒิ  ท่อนไม้จันทร์   ประธานชมรมพยัคฆ์เดินไพรนาแกคนแรก  ก็ใช่  คนอื่นๆ ขอเวลาไปสืบค้นก่อน

หลังการฝึกซ้อมได้เรียนวิชาการต่อยมวยสารพัดลีลาอาวุธ หมัดเข่าศอกเตะถีบคลุกวงในเรียบร้อยแล้ว ได้ขึ้นประเดิมชกครั้งแรกที่บ้านโคกศรีสุพรรณ  สกลนคร

            ให้ท่านผู้อ่านเดาอย่างไรก็ไม่ถูกอย่างแน่นอนว่าคู่ชกของลุงทิดนัดเป็นใคร  เฉลยให้ทราบก็ได้ว่า เป็นคนสกลนคร ชื่อว่า คมกริช  เสนาชัย  ขึ้นชกครั้งแรกครานั้นใช้ชื่อว่า           กู้น้อย ศรีพยัคฆ์  

      การชกครั้งแรกชกครบ ๕ ยก  ผลปรากฎว่า เสมอกัน  ได้ค่าตัว 90 บาท เฉลี่ยแล้ว ยกละ 18  บาท  นับว่ามากโข  ขนาดเหล้าโรงขวดใหญ่ขวดละ ๘ บาท   ลุงทิดนัดว่า หลังการเปรียบมวย หากใครได้ขึ้นชกคืนนั้น  เพื่อนที่ไปด้วยกัน สั่งอาหารส้มตำ ไก่ย่าง เหล้าขาวมาทานรอได้เลย

    คนที่ตั้งชื่อให้ คือ พี่ชายลุงน้อม คู่ซ้อมนั่นเอง  ชื่อกู้น้อยนี้   คาดว่าคงเอามาจากชื่อนักมวยดังในอดีตของไทย เวทีราชดำเนินคนหนึ่ง นั่น คือ กู้น้อย  วิถีชัย  
    
      ขออนุญาตเล่าประวัติของ กู้น้อย วิถีชัย ให้ได้อ่านกันสักเล็กน้อย ว่า นักมวยดังท่านนี้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนที่ทำให้ ลุงน้อมตั้งชื่อตามให้น้องชาย

ขออนุญาตนำข้อมูลจากวีกิพีเดียมาเสนอ ดังนี้
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2_%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%96%E0%B8%B5%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%A2

     กู้น้อย วิถีชัย อดีตนักมวยสากลในรุ่นฟลายเวทที่มีชื่อเสียงของไทยในอดีต มีชื่อจริงว่า กู้น้อย มหัตถพงศ์ เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ที่ย่านเยาวราชกรุงเทพมหานคร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551 ด้วยโรคอัลไซเมอร์ รวมอายุได้ 75 ปี สถิติการชก 99 ครั้ง ชนะ77 เสมอ 4 แพ้ 14 (ข้อมูลบันทึกการชกจากครอบครัวมหัตถพงศ์)
กู้น้อยเป็นบุตรของนายเช้ง และนางน้อย แซ่เฮ้ง มีชื่อเดิมว่า เอี้ยหยู แซ่เฮ้ง หัดมวยครั้งแรกกับชิต อัมพงสิน หัวหน้าคณะวิถีชัย และขึ้นชกมวยไทยในต่างจังหวัดใช้ชื่อว่า กิมหยู วิถีชัย แฟนมวยและสื่อมวลชนจึงนิยมเรียกชื่อติดปากว่า "ไอ้หยู" ต่อมาจึงขึ้นชกที่เวทีราชดำเนินในชื่อ กู้น้อย วิถีชัย ขณะอายุเพียง 17 ปี ชกมวยไทยอยู่ระยะหนึ่ง แต่พอแพ้ศรีเดช สมานฉันท์อย่างบอบช้ำ จึงเปลี่ยนมาชกมวยสากล และเป็นคู่ซ้อมให้กับ บุญธรรม วิถีชัย นักมวยสากลชื่อดังค่ายเดียวกัน
กู้น้อยชกมวยสากลชนะนักมวยชื่อดังหลายคน เช่น สมานชัย ร.ฟ.ท., วีระ ฉวีวงษ์, วิทยา ราชวัฏ จนได้ครองแชมป์เวทีราชดำเนินรุ่นฟลายเวท เคยชกกับนักมวยระดับแชมป์โลกอย่าง โผน กิ่งเพชรและชาติชาย เชี่ยวน้อย มาแล้ว โดยเฉพาะกับโผนเคยชกกันถึง 3 ครั้งด้วยกันในสมัยที่โผนยังไม่ได้เป็นแชมป์โลก ในครั้งแรก กู้น้อยเป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนโผนไปได้ และครั้งที่ 2 กู้น้อยเป็นฝ่ายแพ้ที.เค.โอ.โผน ถึงขนาดอาเจียนออกมาเป็นน้ำบนเวที ที่เวทีมวยชั่วคราว ณ ลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 หน้าสวนลุมพินี และครั้งที่ 3 กู้น้อยเป็นฝ่ายแพ้คะแนนโผน และยังเคยชิงแชมป์ OPBF ถึง 3 ครั้งแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อเลิกชกมวย กู้น้อยหันไปขับรถแท็กซี่และเป็นพนักงานขับรถของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์อยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงมาทำงานที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์จนเกษียณอายุ นอกจากนั้น ยังเคยเป็นเทรนเนอร์ให้กับนักมวยระดับอดีตแชมป์โลกถึง 3 คนคือ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์นภา เกียรติวันชัย และเมืองชัย กิตติเกษม ในช่วงที่เกษียณอายุแล้วยังเป็นเทรนเนอร์ให้กับนิวแสนเชิง ปิ่นสินชัย ด้วย ก่อนจะล้มป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์นานถึง 4 ปี และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551
ซึ่ง โผน กิ่งเพชร เคยกล่าวถึงกู้น้อยว่า ในชีวิตการชกมวยของตน คู่ชกที่เก่งที่สุดที่เคยพบมาไม่ใช่ ปาสกาล เปเรซ หรือ ไฟติ้ง ฮาราด้า หากแต่เป็น กู้น้อย วิถีชัย

เกียรติประวัติ

แชมป์ประเทศไทยรุ่นฟลายเวท (2499)
  • ชิง, 7 มีนาคม 2497 ชนะน็อค แสง จอมทอง ยก 6
  • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 15 เม.ย. 2499 ชนะน็อค โผน กิ่งเพชร ยก 7 ที่ กรุงเทพฯ
  • เสียแชมป์, 14 ต.ค. 2499 แพ้คะแนน โผน กิ่งเพชร ที่ กรุงเทพฯ
เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ
  • ชิงแชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวทเมื่อ 30 ต.ค. 2497 แพ้น็อค แทนนี่ แคมโป (ฟิลิปปินส์)ยก 11 ที่ ฟิลิปปินส์
  • ชิงแชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวทเมื่อ 7 ธ.ค. 2498 แพ้คะแนน แดนนี่ คิด (ฟิลิปปินส์) ที่มะนิลา, ฟิลิปปินส์
  • ชิงแชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวทเมื่อ 7 เม.ย. 2503 แพ้คะแนน ซาดาโอะ ยาโออิตะ ที่ ญี่ปุ่น
เสื้อสามารถของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)

สถิติการชก
  
ข้อมูลส่วนตัว
ชื่อจริงกู้น้อย มหัตถพงศ์
เอี้ยหยู แซ่เฮ้ง (ชื่อจีน)
ฉายาเพชฌฆาตหน้าหยก
วันเกิด6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475
สถานที่เกิดเยาวราช กรุงเทพ
วันที่เสียชีวิต3 มกราคม พ.ศ. 2551 (75 ปี)
สถานที่เสียชีวิตกรุงเทพ ประเทศไทย
รุ่นฟลายเวท
ผู้ฝึกสอนชิต อัมพงสิน
สถิติ
ชก99 (จากสมุดบันทึกการชกส่วนตัว ของกู้น้อย วิถีชัย)
ชนะ71 (ชนะคะแนน 26/ชนะKO 45)
ชนะน็อก6 (ชนะTKO)
แพ้14 (แพ้คะแนน5/แพ้KO3/แพ้น็อกTKO1)
เสมอ4


    จากความทรงจำแต่เด็กจำได้ว่า  โฆษกพากษ์มวยเวทีนาแก สมัยนั้น ได้แก่ ลุงมะลิ  หรือ ชื่อในการพากษ์หนังว่า มะลิวรรณ   ลุงมะลิจะเรียกทิดนัดเมื่อขึ้นชกมวยว่า มุมแดง กู้น้อย ศรีพยัคฆ์  เพชรฆาตรหน้าหยก...ซึ่งเป็นฉายาของกู้น้อย วิถีชัย  เมื่อพิจารณาจากหน้าตาลุงทิดนัด  ตอนเป็นหนุ่มคงหล่อเหลาไม่เบาทีเดียว  คงคล้ายกันกับกู้น้อย วิถีชัย
  
สรุปว่า ชื่อ  กู้น้อย ศรีพยัคฆ์  เอามาจาก  กู้น้อย วิถีชัย           ส่วนนามสกุล  ศรีพยัคฆ์ เอามาจากชื่อค่ายมวยค่ายแรกของนาแก

           ลุงทิดนัดเล่าว่า อาวุธที่ร้ายกาจมากของตน คือ ศอกคู่ ซ้ายขวา และ เข่าไขว้หลัง  เรื่องการตีเข่าหลังไขว้หลังนี้มี        กู้น้อย ศรีพยัคฆ์  ทำได้คนเดียว นอกนั้นไม่มีใครทำได้เลย  เสียดายไม่อาจบรรยายลีลาการเข้าประกบตีเข่าหลังไขว้ให้เห็นภาพได้  คงต้องอาศัยให้คนมาสาธิตถ่ายภาพประกอบวันหลัง

         สถิติการชกมาทั้งหมด ๑๙ ครั้ง ชนะนอ็คเอ้าท์ ๑๖ ครั้ง เสมอ ครั้ง แพ้เพียงครั้งเดียว  เป็นการแพ้คะแนน  แดงเพลิง ไม่ทราบว่าที่เวทีไหน  
          การชกทั้งหมด ๑๙ ครั้ง ไม่ได้มีการจดสถิติ  ตามนิสัยของคนไทยส่วนมากที่ไม่ได้จดบันทึก  จึงไม่ทราบว่า ลุงทิดนัดทำการชกที่ไหนบ้าง

          อาจจะด้วยทิดนัดเกิดมาเร็วเกินไป หากเป็นทุกวันนี้  อาชีพการชกมวยของลุงทิดนัดต้องเข้าไปชกที่ กรุงเทพมหานครเวทีราชดำเนิน หรือเวทีลุมพินีอย่างแน่นอน  และต้องเป็นนักมวยค่าตัวเงินแสน เงินล้านแน่นอน  ลีลา ท่าทาง สายตา การล่อหลอกคู่ต่อสู้ของลุงทิดนัดนั้น ยากจะหาใครเทียบได้  คราใดที่เรานั่งสนทนาได้ที่  ลุงทิดนัดจะปล่อยลีลา ท่าทาง บรรยายการชกแต่ละครั้งให้ฟังอย่างสนุกสนานประทับใจมาก  ถือคติการต่อสู้คลุกวงในว่า ...ไหล่ซ้ายยัน   หัวใจช้างถีบ   ชนะทุกราย

       เรื่องอาชีพการชกมวยเอาแค่นี้ก่อน  คิดได้วันหลังจะเล่าเพิ่มเติม...

          นอกจากอาชีพการชกมวยแล้ว  ลุงทิดนัดยังมีอาชีพอีกอย่างที่ให้เดาอย่างไรก็ไม่ถูกแน่นอน  เฉลยก็ได้ว่า อาชีพนั้น คือ การพากษ์หนัง  

         ลุงทิดนัดหัดพากษ์หนังครั้งแรกที่โรงหนังลุงแพงมา ซึ่งเป็นโรงหนังเพียงแห่งเดียวของนาแก  ลุงสุขพรชัย อึ้งอุประชัย  เป็นผู้ดำเนินกิจการร่วมกัน ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นตลาดขายอาหารเย็นของนาแกไปแล้ว  หนังเรื่องที่ลุงทิดนัดพากษ์ได้ดีมาก คือ เรื่อง องค์คุลิมาล  จอมโจรผู้กลับใจ  เป็นหนังแขกอินเดีย   เกี่ยวกับประวัติพระสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระอรหันต์    วันไหนผู้บันทึกนึกสนุกจะให้ลุงทิดนัดพากษ์หนังเรื่องนี้ให้ฟัง  ลีลาการพากษ์สนุกสนานมาก  ประโยคที่ติดปากประจำคือ คำว่า ดูก่อนอานนท์ ....  

           ใครที่สนใจหนังเรื่องนี้ ลองกดเข้าไปที่ลิงค์ข้างล่างนี้ รับรองได้ชมหนังอินเดียเรื่องที่ลุงทิดนัดพากษ์อย่างแน่นอน 

 https://www.youtube.com/watch?v=3B91Hio5BtU

         นอกจากการพากษ์หนังแล้ว จะมีใครทราบหรือไม่ว่า ลุงทิดนัดนั้น  มีความสามารถในการขี่ม้า   เรื่องนี้มีเกล็ดเล่าว่า ครอบครัวลุงทิดนัดนั้นมีม้าอยู่  คือลุงกานีพ่อลุงทิดนัดนั้นมีรถม้าจึงเลี้ยงม้าไว้  ทิดนัดจึงขี่ม้าเก่ง  

        ตอนที่ไปเที่ยวสงกรานต์หัวหิน  มีคนจูงม้ามาให้นักท่องเที่ยวขี่ม้าหาเงิน  ลุงทิดนัดได้ขอขี่ม้าฮ้อตะบึงไปอย่างง่ายดาย  บังคับม้าได้คล่องแคล่ว  

          อีกครั้งหนึ่งลุงทิดนัดได้ไปจีบสาวที่บ้านแพง  หมู่บ้านอะไรไม่อาจจำได้  ไอ้หนุ่มแถวนั้น ได้หาเรื่องกลั่นแกล้ง โดยหวังจะให้ขี่ม้าแล้ว ตกม้าลงมาให้อายสาวๆ  แต่ลุงทิดนัดก็บังคับม้าไว้ได้  ทั้งที่เป็นม้าพยศ ไม่คุ้นกลิ่นเจ้าของ  เรื่องนี้ทำให้สาวๆ ติดใจลุงทิดนัด  และเป็นเหตุให้ต้องรีบหนีกลับมานาแก  เพราะกลัวจะมีเหตุทะเลาะกันกับหนุ่มๆ แถวนั้น  ถึงแม้ลุงทิดนัดจะไม่กลัวเรื่องการชกต่อย แต่ก็คงไม่อยากมีเรื่อง

อีกเรื่องหนึ่งที่ เป็นเรื่องการใช้เวทมนต์คาถา อาคม...

             ลุงทิดนัดนั้นมีฉายาว่า ทิด  หลังจากสึกหาลาเพศพระสงฆ์จากสังกัดวัดธาตุศรีคูณ  สาเหตุที่ได้แค่ ทิด เพราะบวชได้ ๔ พรรษา  ที่ไม่ยอมเอา  จารย์ หรืออาจารย์นำหน้าชื่อเพราะ  ไม่อยากได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์  หากทำตัวบกพร่อง ไม่เป็นฆราวาสที่ดี ชาวบ้านก็จะต่อว่าให้เสียชื่อ เสียเสียง ว่า เสียแรงที่บวชมาจนเป็นจารย์ หรือ อาจารย์  ดังนั้น จึงเอาแค่ทิด หรือ บัญฑิต ก็นับว่าพอใจ หรูแล้วว่างั้นเถอะ


             คงเพราะการบวชเรียนถึง ๔ พรรษานี้กระมัง  ประกอบกับตนเองเป็นคนที่มีมันสมองฉลาดเฉียบแหลมมาก ทำให้เป็นคนสนใจศึกษาค้นคว้า และจำคาถาอาคม บทพุทธมนต์ต่างๆ  ได้อย่างดี  ทิดนัดบอกว่า ตนเองเรียนวิชาคาถาอาคมกับครูบาอาจารย์ตอนบวชเป็นพระและศึกษาจากตำรา หนังสือต่างๆ 

ยกตัวอย่าง...คาถากำจัด ว่า....

                     โอมพุทโธ พุทธะกำจัดออกไป 
        
             เป็นคาถากำจัดอุปสรรค หรือขับไล่สิ่งไม่ดี  ดับเคราะห์เข็ญเวรภัยก็ได้

            ครั้งหนึ่ง ผู้บันทึกได้ชวนทิดนัดไปขุดหาสมุนไพรปลาไหลเผือกที่หลังวัดดานสาวคอย  ช่วงบ่ายที่กลับออกมาเกิดมีฝนตกเริ่มตั้งเค้า ทิดนัดได้ท่องคาถาไล่ฝน  ปรากฎว่า  ฝนที่กำลังตกปรอยๆ ก็พัดไปทางอื่น  ค่อยเบาบางลงไป 
          คาถานั้นเป็นของเก่าโบราณว่า...โอมควายดำ ไปตำควายด่อน  สะหับ สะหายเพิก....ให้ท่องไปเรื่อยๆ  พอผู้บันทึกจำได้ นึกว่าแม่นยำแล้ว ก็เลยท่องลองวิชาไล่ฝน  ปรากฎว่า ลืมคาถาท่องกลับคำว่า ...โอม ควายด่อนมาตำควายดำ สะหับ สะหายเพิก...ฝนกลับตกแรงกว่าเดิม  ทำให้วิ่งหนีฝนอลหม่าน  ดีแต่มีเพิงถ้ำ พอหลบได้ ไม่เปียกมากนัก  เรื่องนี้ พากันหัวเราะยกใหญ่ ท้องคัดท้องแข็ง

                                                           
           คาถาอีกอย่างหนึ่งที่ทิดนัดสอนให้แล้วใช้ได้ผล ได้แก่ คาถาไล่มดง่าม...
         ได้ทดลองนำไปใช้ที่กลางองค์ปราสาทภูเพ็ก คราวนั้นไปบำเพ็ญภาวนาอยู่คนเดียว ๗ คืน  วันหนึ่งระหว่างนั่งภาวนามดง่ามเริ่มมารบกวน จึงได้ท่องคาถามดง่าม  ปรากฎว่ามีมดแดงวิ่งไวๆ มาจากไหมไม่รู้จำนวนมาก มดพวกนี้ไม่กัด แค่เดินมาไต่ให้รำคาญ  แต่มดง่ามพอเห็นมดแดงเท่านั้นแหละพากันมุดลงดินทำขุยหลบซ่อนตัวทันที  ไม่นานหายตัวไปหมดเกลี้ยงเลย  นับว่าประหลาดมาก...

คาถามดง่ามนั้นว่า...
    ......โอมมดง่ามฮูเหลิก   เกิดเสิกบ่มีซ้างขี่  หม่องนี้แหม่นหม้องพระนารายณ์  ไผลามไหม้ขนตาขี้ทักแท่  โอมต้อยติ่ง ปะติคายุ้มฮัด...

           ใครสนใจก็เอาไปท่องบ่นลองดู ไม่ได้ผลก็แล้วไป อย่ามาต่อว่ากันนะ


               อีกเรื่องหนึ่งที่ลุงทิดนัดเชี่ยวชาญ คือการเป็นหมอสูดขวัญ  งานแต่งงานกินดอง  ผูกแขนเด็กน้อย  สูดขวัญนาค  ตั้งเสาเอก ตั้งศาลพระภูมิ ทำน้ำมนต์เสดาะเคราะห์  เป็นสีลวัตรพาชาวบ้านทำพิธีการทางสงฆ์  เหล่านี้ ทิดนัดทำได้สบายมาก...

          สาเหตุที่ลุงทิดนัด มีชื่อเสียงเลื่องลือไปไกล จนผู้คนนิยมมาขอเชิญตัวไปประกอบพิธีนั้น  เรื่องนี้ ต้องยกเครดิตให้ผู้บันทึกเอง  อะแฮ่ม...
           
            ย้อนหลังไปปี ๒๕๔๔  หลังจากกลับไปนาแกเพื่อตั้งแค้มป์ตกปลา หรือ ไปดูการตกปลาแบบนอนค้างอ้างแรมตามอ่างเก็บน้ำ  ห้วยหนองคลองบึง  เช่น ที่ประตูระบายน้ำนาคู่ได้ไปตั้งแคมป์นอนพักผ่อน ดูการตกปลา หาปลาของชาวบ้าน เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน  แน่นอนว่า คนที่นอนเป็นเพื่อน อยู่เป็นเพื่อน ตลอด 3 วัน 3 คืนนั้น คือ ลุงทิดนัด  เราตั้งแคมป์อยู่ข้างกอไผ่เล็กๆ ตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้นทอดแสงมาตามลำน้ำก่ำ เห็นนกร้องเพลงขับกล่อมตอนเช้า สายลมแสงแดด ภูพานทอดทะมึนอยู่เบื้องหลังช่างงามตาในธรรมชาติของนาแกยิ่งนัก จนเขียนโคลงกลอนออกมาหลายบทกลอน....
                                             

ริมก่ำ

                                             ทอแสงฉายเริ่มแล้ว       ชีวี                                                                                                     สุรีย์เปล่งงามพลี           แจ่มหล้า
                สายลมเคล้าฤดี                     โชยผ่าน
                เมฆลอยคลอล้อฟ้า                 นกน้อย  ส่งเสียง
                   อรุณงามเริ่มรุ่งแล้ว       ขับขาน
                ชีวาฤกษ์แย้มบาน                  ล้ำค่า
                ใบไม้พลิ้วเจือจาน                  พัดโบก
                สรรพสิ่งกล่อมใต้หล้า              ดั่งทิพย์   แดนสวรรค์
                   น้ำค้างพร่างพรมลี้        หลบหน้า
                สุรีย์ฉายแสงจ้า                     ขู่ขวัญ
                โบกโบยโชยคู่ฟ้า                  หวนกลับ
                น้ำก่ำคลื่นริ้วกั้น                    หยอกล้อ   มัจฉา
                         สองฝั่งบังแมกไม้         ไพรพฤกษ์
                เงายื่นลงน้ำลึก                     เลือนพร่า
                รินหลั่งไหลยามดึก                 แห้งขอด
                โผล่แต่ทรายหาดจ้า                สบเนตร   นวลขาว
                   เอื่อยเอื่อยเรื่อยลมโชย   พลิ้วผ่าน
                ไม้โบกใบซ่าซ่าน                   เสียดสี
                หญ้ากอไหวตระการ               ลู่โบก
                ผีเสื้อเร้นหลบลี้                     หลีกเย้า   เอื้องหลวง
                   รินรินลดเลี้ยวโค้ง         คุ้งน้ำ   แลงาม
                ก่ำเพี้ยงคนคิดตาม                 ตาเห็น
                ดวงจิตไม่คิดทราม                 บริสุทธิ์
                ก่ำเพียงน้ำท่าเร้น                  อย่าทราม  ก่ำฤทัย
             โดดเดี่ยวกลางเปลี่ยวเดียว    ริมก่ำ
                เสพสรรพสิ่งล้ำ                     ความหมาย
                เพียงหวังฝากเอ่ยคำ               คู่โลก
                เป็นตำนานแต่งป้าย               เติมแต้ม  สีสัน
                    ใดใดในโลกล้วน                เป็นธรรม
                ตั้งจิตพินิจจำ-                      แนกไว้

                ประทับแนบความคำ              คือโลก

                              ปลดปลงปล่อยวางได้             โลกุตระ   แดนเกษม

  
ตุ่ย  ตองเจ็ด
วันพุธที่   ๘   ตุลาคม  พ.. ๒๕๔๖
ณ  ริมน้ำก่ำ  ตั้งแค้มป์เยื้องโรงสูบน้ำประปา  พักแรมสามคืน
 มีนักตกปลา ทิดนัด ตุ๊ดตู่  ครูนาย  อุ๊ดดี้  อุ้ม  นักล่า   คน   ภูเขา    ช้าง   กุ๊กไก่    แฮปปี้
 แดงและแอ้ง   จากพระซอง   มาช่วยรินสุรา

     ที่อ่างเก็บน้ำ  พตท.ภูพานน้อยไปนอนพักดูการตกปลากับชมรมอยู่คืนหนึ่ง ได้เขียนโคลง  วาดเบ็ด ดังนี้..

                                                          วาดเบ็ด

                               คันเบ็ดวาดคดโค้ง                 แรงวาด                                                    ปั้นเหยื่อเป็นป่อมคาด             อาจหมาย

                             สายเบ็ดพลิ้วลิ่วปาด               เสริมส่ง

                             หล่นจมน้ำลงคล้าย                 เหยื่อพร้อม  รอปลา
                                      พลันนั้นฟ้าแสงส่อง       ฉาดฉาย
                             นวลจันทร์ฝูงแหวกหมาย        ภักษา
                             ฮุบเหยื่อป่อมปมคลาย            ยามบ่าย
                             วาดเบ็ดเหยื่อรอล้า                 รบเร้า  นวลจันทร์
                                      นวลจันทร์ฮุบเหยื่อแล้ว  พัลวัน
                             เบ็ดเกี่ยวเกี้ยวปากพลัน           ปวดแสน
                             เหยื่อปมสลายพัน                     หวนกลับ
                             เหลือเบ็ดเกี่ยวปากแม้น           ติดปาก  จันทร์นวล

                                ตุ่ย  ตองเจ็ด
                                   วันอาทิตย์ที่  ๙  กันยายน  พ.ศ. ๒๕๔๔
                                    ณ  อ่างเก็บน้ำภูพานน้อย (อ่าง พตท.)


            อยู่กินสนุกสนานกับชมรมจนเกิดความคิดว่า สมควรตั้งชมรมนักกีฬาตกปลานาแก เพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม  ปลุกจิตสำนึกรักนาแกบ้านเกิดแล้ว  ทาบทามให้ ท่านอาจารย์โสภัณ ศิริสานต์  หรือที่เรียกชื่อเล่นว่า ป๋าโส  เป็นประธานชมรมนักกีฬาตกปลานาแก  คนแรก

         ปี พศ.๒๕๔๕ ชมรมได้มีความคิดว่า อำเภอนาแก  ไม่ได้ทำกฐินอำเภอติดต่อกัน ๖ ปีแล้ว เรียกว่า กฐินหลวง  จะด้วยสาเหตุใดไม่แน่ชัด  ผู้บันทึกกับพี่เสมียน ศรีนา จึงได้พากันไปกราบหลวงปู่คำพันธ์  โฆสปัญโญ  วัดธาตุมหาชัย  อำเภอปลาปาก นครพนม  เพื่อขอความเมตตาขอคำปรึกษาจากท่าน  เล่าให้หลวงปู่ฟังว่า กฐินหลวงเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่ได้ทำมาหลายปีแล้ว ท่านถามว่า  มีใครขัดขวางหรือ บอกท่านว่า ไม่มีใครขัดขวางแต่ไม่มีใครริเริ่มทำเลย  

        หลวงปู่จึงเมตตาให้พระอาจารย์กินเรศ กัลญานธัมโม เอาผ้าไตรจีวรมาให้ ๑ ชุด บอกว่าให้พากันไปทำ หลวงปู่สนับสนุน  เมื่อได้มาแล้ว เนื่องจากเป็นกฐินที่ชมรมทำไม่ใช่ราชการ  จึงคิดว่า จะให้คุณแม่ราศรี ตงศิริ เป็นเจ้าของผ้าไตรเอก  
       ครั้นทางราชการทราบข่าว พี่ปราจิต ตรีศรี ซึ่งตอนนั้นเป็นพัฒนาการอำเภอนาแก เป็นคนในชมรมและเป็นญาติกัน จึงได้ไปปรึกษานายอำเภอแล้วออกคำสั่งแต่งตั้งราชการมาทำงานกับชมรม  ตั้งองค์กฐินเพื่อคบงันที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอนาแก
        พูดง่ายว่า  ราชการมาขอแจมชาวบ้าน  ซึ่งก็ยินดี อยากให้ทำตั้งนานแล้ว  เปิดหูตาซะมั่ง จะได้ผลงาน




       คราวนี้ก็มีคนมาพูดว่า งั้นให้นายอำเภอมาเป็นเจ้าของผ้าไตรเอก  (ฮา ฮา ฮา) ผู้บันทึกก็ตอบว่าได้   ขอให้แม่ผมเป็นผ้าไตรโท ก็แล้วกัน สักหน่อยก็มา ว่า ขอให้ผู้กำกับซะเนาะ  (หึหึ)  ได้  ขอเป็นผ้าไตรตรี แล้วก็มีคนมาบอกว่า ให้ราชการซะเนาะ  ยายเป็นไทบ้าน  คร้าบๆๆๆ  ได้ๆๆๆ   คิดใจใจ ตอนทำไม่ค่อยนำหน้า  พอเป็นการงานแล้วก็มาเป็นม้ามแปะพุง   แต่ก็ช่างเถอะ  เป็นการวัดระดับจิตใจคน

        ตอนเย็นวันที่ตั้งองค์กฐินได้นิมนต์พระคุณเจ้ามาเจริญพุทธมนต์จำนวน  ๙ รูป มีนักปราชฌ์อาจารย์ที่มาเป็นศีลวัตรหลายท่าน   วันนั้นโฆษกงาน ผู้บันทึกก็เป็นเอง  จึงได้เอ่ยปาก ขออนุญาตให้พราหมณ์ประจำชมรม คือลุงทิดนัด  เป็นผู้ทำพิธีพาไหว้พระรับศีล  อาราธนาพระปริตร เพราะงานนี้เป็นงานของชมรมนักกีฬาตกปลาอำเภอนาแก  พราหมณ์ของชมรมก็ควรทำหน้าที่อย่าให้บกพร่อง

        ตอนแรกลุงทิดนัดก็ให้เกรงใจผู้หลักผู้ใหญ่  แต่ทุกท่านบอกว่า ต้องให้มีการสืบทอดความรู้นี้ เปลี่ยนช่วงอายุไปหลากหลาย  ไม่ต้องการซ้ำซากจำเจอยู่กับคนเก่าที่นับวันจะอายุมากขึ้น
           ลุงทิดนัด เมื่อผู้บันทึกยื่นไมค์โครโฟนให้  ก็กล่าวขออนุญาตผู้หลักผู้ใหญ่ ออกตัวว่า หากผิดพลาดประการใด ขอให้ตักเตือนทักท้วงด้วย  แล้วก็เริ่มดำเนินงานการพิธีสงฆ์อย่างคล่องแคล่ว  เป็นที่ประทับใจผู้มาร่วมงานเต็มหอประชุมอำเภอนาแก

      
          คืนนั้น ป๋าโสภัณ  ศิริสานต์  ทิดนัด  ครูนาย  ผู้บันทึก และอีกท่านหนึ่งจำไม่ได้  พากันคบงันกฐิน  จนสว่างคาตา ไม่ได้หลับนอน  ถือว่าได้บุญอย่างมาก

         สำหรับอาหารการกินคืนนั้น  ชมรมโดยหัวสมองและเพาเว่อร์ของ ครูนาย ชูเกียรติ ตงศิริ  มีเพื่อนเป็นประมงอยู่จังหวัดสกลนคร ชื่อ พี่ตี๋ ได้ขอแรงสมทบปลาเผาจำนวน 2 ถังน้ำแข็งพร้อมพันธ์ปลามาแจกชาวบ้าน รถยนต์ขนใช้รถบรรทุกของเสี่ยติ๊ก  โรงสีนาแกพงษ์เจริญ 

         คืนนั้นจัดโต๊ะลาว บัตรละ 300 บาท ปูเสื่อซึ่งทีมงานวัยรุ่นของชมรม บ่าวตู่เมืองนาแก ปฐมพร บุญทองล้วน กุ๊กไก่ อนุสรณ์ บุญทองล้วน  บ่าวช้าง ดนัย บุญทองล้วน  สามพี่น้อง และเพื่อน  อุ้ม  อั้ม อีกหลายคน พากันไปขนเสื่อจากวัดมาปูรองนั่ง   พี่ปราจิตร ตรีศรี  พี่เสมียน  ศรีนา  ได้พากันเป็นผู้ดูแลทางด้านเครื่องดื่ม  ไทนาแกที่อยากร่วมบุญกัน พากันทำอาหารข้าวหม้อแกงหม้อมาทำโรงทานแจกฟรี  ยายกระปีดสตรีเหล็กรุ่นแรกของชมรมนักกีฬาตกปลาอำเภอนาแก ทำข้าวปุ้น ขนมจีนอร่อยที่สุดในโลก พร้อมของหวานใส่รถเข็นมาแจก  วันนั้นจำได้ว่ายายกระปีดไปดัดผมเสริมสวยมาแจกข้าวปุ้นด้วย
        
         เครื่องขยายเสียง ดนตรีจำไม่ได้ว่า ใครหามา  น่าจะเป็นชมรมพ่อค้าอำเภอนาแก  แต่ทุกอย่างฟรี ครูนายไปขอรับบริจาคพัดลม จากร้านค้ามาจับสลากแจกคืนนั้น ได้พัดลมมากมาย 30 กว่าตัว  ทั้งกินฟรี ทั้งแจกของ เพื่อการคบงันกฐินอำเภอ ชมรมพากันทำทั้งนั้น  แต่ที่ซาบซึ้งใจกลับเป็น ผู้เฒ่าผู้แก่ของไทนาแก มาช่วยประดับจัดตั้งกองกฐินตั้งเช้าๆๆ  ได้บุญกันมากมาย ..
          

        กฐินหลวงหรือกฐินอำเภอที่ชมรมนักกีฬาตกปลาอำเภอนาแกรื้อฟื้นขึ้นมาครานั้น   ได้ออกความเห็นสรุปว่า วัดพระซอง อยู่ระหว่างการพัฒนา   จึงขอให้ทอดถวายที่วัดนี้ก่อน (จำชื่อวัดไม่ได้ อยู่ตรงเข้าไปเลี้ยวซ้ายหลังตลาด  ไม่ใช่วัดอยู่ริมถนน) 

           วันนั้นมีเจ้าใหญ่นายโตไฮโซมาเป็นโฆษก เสนอหน้ากันมากมาย  คนนั้นก็ว่าผมเคยมาร่วมสร้าง คนนี้ก็ผมเคยมาทำนั่นนี่  สรุปว่ามาเสนอหน้ากันใหญ่ 

          ส่วนชมรมนักกีฬาตกปลาอำเภอนาแกผู้ริเริ่มรื้อฟื้นกฐินหลวงของอำเภอขึ้นมาใหม่   ในวันทอดกฐิน  ไม่มีผู้ใดเอ่ยปากชมเชยให้กำลังใจใดๆ 

         ผู้บันทึกสนิทสนมกับ ท่านอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  ท่านส่งเงินมาสมทบ 2 พันบาท และเพื่อนฝูงมากมายใกล้ไกล   ได้ปัจจัยเป็นหมื่นๆ แต่ไม่มีใครสนใจเลย   สรุปรวมวันนี้นได้เงินธรบัตรกฐิน 2 แสนกว่าบาท   พร้อมกับความน้อยใจนิดๆ ของสมาชิกชมรมหลายคน

        แต่อย่างไรก็ดี การทำงานใหญ่.....พัฒนาอำเภอนาแกอย่างไม่หยุดยั้ง....ซึ่งเป็นปณิธานของชมรมนักกีฬาตกปลาอำเภอนาแก  ก็ได้สร้างให้เกิดนักปราชฌ์อาจารย์ ผู้สืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น...ลุงทิดนัด หรือ อ้ายทิดนัด  ให้แจ้งเกิดและรับใช้สังคม  ให้ไปทำการประกอบพิธีสงฆ์  ไม่ว่า คนเป็น คนตาย ออกลูก สูดขวัญ ตั้งศาล ยกเสาเอก สวดเสดาะเคราะห์  สารพัดงาน  แม้แต่บ้านต้นแหน สร้างติ่ว บ้านแก้ง ในเขตเทศบาลนาแก ทุกคุ้มหมู่เหล่าก็เรียกใช้ไหว้วาน ลุงทิดนัด  ตาทิดนัด  เพราะความเป็นคนง่ายๆ มีน้ำใจของทิดนัดเอง

         จำได้ว่า แม้งานบวชพระของลูกชายพี่อ้อยไก่สด สกลนคร ก็ไปเป็นผู้สวดขวัญนาค  ที่มุกดาหาร งานสวดขวัญของแพทย์แผนไทย อบจ.จัดขึ้นก็ได้ไป  งานตั้งศาลพระภูมิ  ลงเสาเอกไอศครีมวอลล์สกลนคร  มุกดาหาร หรืองานพิธีสวดต้มยาสมุนไพรรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง  ที่อโรคยศาล   วัดคำประมงค์  สกลนคร อื่นๆ อีกมากมายจำไม่หมด....



       ลุงทิดนัดได้เป็นนักปราชฌ์อาจารย์ช่วยสังคมจาก ปี พศ.๒๕๔๔ ถึง พศ.๒๕๕๗ รวมระยะเวลา ๑๓ ปี พอดี   และลุงทิดนัดได้ปิดฉากชีวิตด้วยการป่วยมะเร็งที่ปอด แม้สองอาทิตย์สุดท้าย ผู้บันทึกยังได้ชวนคุณหมอศิริโรจน์ กิตติสารพงษ์  ไปรักษาด้วยการฝังเข็ม และยาโฮมีโอพาตี้ มีการถ่ายรูปและบันทึกการสนทนาก่อนจะเสียชีวิตไว้อย่างสนุกสนานประทับใจ เหมือนท่านไม่ใช่ผู้ป่วย  ยังมีการออกหมัดมวยเล่าประสบการให้ฟังมากมาย

      ในช่วงชีวิตของท่านนี้ได้ทำประโยชน์ให้สังคม  ฝากความดีงามไว้ที่เป็นรูปธรรม  เอ่ยปากเอ่ยชื่อทิดนัด  ทุกคนจะรู้จักกันดี  จัดว่าเป็น คนจนผู้ยิ่งใหญ่  เป็นคนดี ไม่มีพิษภัยกับใคร....ความดีงามจึงตรึงอยู่ในใจของทุกผู้คนตลอดไป...

       ลุงทิดนัดเสียชีวิตในวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พศ.๒๕๕๗   ที่บ้านริมน้ำก่ำ  รวมอายุที่เกิดมาใช้บทบาทลีลาตัวละครในโลก  ไปด้วยวัย ๖๗ ปี   ๒ เดือน  ๙ วัน   

      ในฐานะเป็นเพื่อนซี้ต่างวัย  ขอบันทึกเรื่องราวชีวิตบางเสี้ยวของท่านไว้เพื่อเป็นการเชิดชูความดีของท่าน.....

      ถนัด เชื้อวงศ์พรหม   กู้น้อย  ศรีพยัคฆ์     ฤาษีนัฐสิทธิ์ฤทธิมนต์    หนึ่งเดียวในนาแก  ที่ไม่อาจมีใครลอกเลียนแบบได้.....

วรวิทย์  ตงศิริ (ฤาษีเอก อมตะ)
วันที่  ๑๒  มิถุนายน พศ.๒๕๕๘